ข่าวสิ่งแวดล้อม

Slide
Slide

กระบี่โมเดล อนาคตพลังงานหมุนเวียน 100%

“จากงานเสวนา “กระบี่เต็มร้อยแห่งแรกของประเทศ” ที่จัดโดยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ได้หยิบยกถึงความเป็นไปได้ในประเด็นเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในจังหวัดกระบี่ ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐศาสตร์ งานวิจัย หรือในภาคส่วนผู้ประกอบการภายในจังหวัด ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร หากทางจังหวัดไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และพร้อมที่จะหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ”

ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ยกประเด็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดกระบี่ซึ่งมีการเจริญเติบโตเป็นอันดับต้นๆ ของภาคใต้ โดยวัดจากความเติบโตทางรายได้ของผู้คน 20% ที่มีรายได้น้อยที่สุดของจังหวัด ที่ผ่านมาโครงสร้างรายได้กับโครงสร้างการจ้างงานนั้นถือว่ามีความสุมดลกัน โดยผู้คนร้อยละ 55 ในจังหวัด อยู่ในภาคการเกษตรและมีส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 39 และอีกร้อยละ 11 ทำอาชีพโรงแรมและภัตคาร โดยมีส่วนแบ่งของรายได้ร้อยละ 9 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดราชบุรี ที่มีค่า GPP ต่อหัวใกล้เคียงกัน และเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากการไฟฟ้าสูงที่สุดในประเทศไทย แต่มีการจ้างงานเพียงแค่ 0.4 เท่านั้น ทำให้รายได้หนึ่งในสี่ของทั้งจังหวัดกระจุกตัวอยู่จำนวนน้อยนิด การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ จึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายของสุมดลทางเศรษฐกิจในจังหวัดได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จอมภพ แววศักดิ์ ศูนย์วิจัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้กล่าวถึงแนวคิดการจัดการพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยในจังหวัดกระบี่นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบ คือพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และชีวมวล ซึ่งพลังงานหมุนเวียนในแต่ละรูปแบบมีคุณลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งก็ขึ้นอยู่ในลักษณะภูมิประเทศ ช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน และช่วงฤดูกาล ซึ่งจากการประเมินศักยภาพของพลังงานทั้ง 4 แบบ หากแต่ละพื้นที่ภายในจังหวังดึงจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ แล้วผลิตพลังงานแต่ละรูปแบบมาใช้รวมกัน จะสามารถนำพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดในจังหวัดมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ และเพียงพอต่อการใช้ภายในจังหวัด นายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่านอกจากการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ อีกสิ่งที่สามารถทำได้ควบคู่กันคือการใช้พลังงานที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ใช่เพียงการประหยัดแบบส่วนบุคคลในการลดการใช้พลังงาน แต่รวมไปถึงการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนอุปกรณ์ให้มีคุณภาพถือว่าเป็นการลงทุนในการประหยัดพลังงานในรูปแบบหนึ่ง อีกเรื่องที่สำคัญคือการดัน พ.ร.บ.พลังงานหมุนเวียนในภาคประชาชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ถ้าทำตามแผนงานอย่างจริงจังกระบี่จะสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ภายใน 6 ปี และลดการใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่า 3,000 ล้านบาท/ปี เมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ด้านนายอธิราษฎร์ คำดี ผู้ประกอบการพลังงานชีวมวลจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการน้ำมันปาล์มในจังหวัด ได้พูดถึงผู้ประกอบการภายในจังหวัดกับพลังงานชีวมวล ที่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งในภาคส่วนของผู้ประกอบการในจังหวัดกระบี่มีความพร้อมและศักยภาพที่สามารถทำได้เช่นกัน

ภาพประกอบ greenzone.com/ ข้อมูลจาก : http://goo.gl/WsMhn9